“การรักษาที่ดีที่สุด” ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเอาอยู่
สุขภาพที่ยังดีอยู่ตอนนี้ ต่อไปจะยังดีอยู่หรือไม่ ? เป็นคำถามที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาคำตอบได้ การวางแผนอนาคตเรื่องสุขภาพไว้ จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะการเข้าโรงพยาบาลในแต่ละครั้ง ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ และยิ่งถ้าเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงตามไปด้วยเช่นกัน
ในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น การรักษาก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งตรวจพบเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาหายได้ไว แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่ตามมาก็สูงขึ้นไปอีกขั้น ดังนั้น หลายคนคงสงสัยว่าการที่จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ วิธีการรักษา หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องมีเงินอย่างน้อยเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ
ในบทความนี้ เราจะชวนมาดูตัวอย่างของโรคร้ายแรงที่คนไทยเป็นมากที่สุด รวมถึงเรื่องค่ารักษา เพื่อให้คุณเห็นภาพว่า หากป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา ควรมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเอาอยู่ !
● โรคมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก โดยมีค่าผ่าตัดเริ่มต้น 200,000 - 300,000 บาท รวมถึงค่าฉายแสง และเคมีบำบัดสูงสุด 300,000 - 800,000 บาทต่อครั้ง แต่หากเป็นการใช้การรักษาแบบยาพุ่งเป้า ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงต่ำ ค่าใช้จ่ายก็อาจสูงถึง 3 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
● โรคหลอดเลือดสมอง
เฉพาะค่าผ่าตัดสมองแบบเปิดกะโหลก ก็เริ่มต้นที่ครั้งละ 500,000 บาทแล้ว แต่หากใช้เทคโนโลยีสำหรับรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยใช้ขดลวดผ่านทางสายสวน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด และโอกาสพิการได้ จะมีค่ารักษาโดยประมาณครั้งละ 1 - 1.5 ล้านบาท
● โรคหัวใจ
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดหัวใจรวมกับการรักษา เริ่มต้นที่ 700,000 บาทต่อครั้ง และอาจสูงถึง 1.1 ล้านบาทต่อครั้ง กรณีใช้วิธีการผ่าตัดแบบปิดที่จะช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแผลได้
จากตัวอย่างโรคร้ายแรงข้างต้น หากผู้ป่วยต้องการเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้นไปอีก หรือต้องการเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งสูงตามขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
ยกตัวอย่างการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น การรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ โดยค้นหาตำแหน่งความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ แสดงเป็นภาพ 3 มิติ และใช้สายสวนจี้ที่จุดที่ผิดปกตินั้นด้วยคลื่นวิทยุ (CARTO Mapping) การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (Robotic surgery) ที่จะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยง และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว หรือการรักษาด้วยคลื่นความร้อน (Radiofrequency ablation)โดยใช้คลื่นความร้อนทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด และด้วยประสิทธิภาพการรักษาที่ดี ล้ำสมัยกว่าของเทคโนโลยีเหล่านี้ แน่นอนว่าก็ต้องมาพร้อมกับค่ารักษาที่สูงหลักล้านบาทด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หากป่วยเป็นโรคร้ายแรง ค่าใช้จ่ายอาจไม่ได้จบเพียงค่ารักษาพยาบาลอย่างที่หลายคนคิด แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น ค่าใช้จ่ายช่วงพักฟื้น ค่าตรวจติดตามกรณีรักษาต่อเนื่อง ค่าบำบัดฟื้นฟู ค่าคนดูแล ค่าใช้จ่ายในช่วงที่ขาดรายได้ และอื่น ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ควรมีสำรองไว้อีกประมาณปีละ 600,000 - 1,000,000 บาท
ดังนั้น ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว โดยเบื้องต้นควรมีเงินสำรองไว้ประมาณ 3 ล้านบาท ถึงจะเอาอยู่ ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คน การใช้เงินจำนวนนี้กับการรักษาตัว เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นแน่นอน เพราะสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ข้างหลัง โดยเฉพาะสำหรับคนที่เป็นเสาหลักของบ้าน การทำประกันจึงเป็นการวางแผนทั้งเรื่องสุขภาพ และการเงิน เพื่อให้คุณ และครอบครัวสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างหมดห่วง